รถเป็นสนิม ทำไงดี ไม่ว่าจะเป็นฝากระโปรง ล้อรถ ก็มีทางออก 100%

รถเป็นสนิม ทำอย่างไรดี

รถเป็นสนิม

“ปัญหารถเป็นสนิม” หนึ่งในปัญหาที่กวนใจคนรักรถมาก เมื่อซื้อรถยนต์มาใหม่ ๆ อาจไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เท่าไร เพราะสีรถยังอยู่ดีและยังได้รับการขัดเคลือบสีมาจากโชว์รูมอยู่แล้วด้วย แต่สำหรับรถที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานหรือเคยเกิดการกระแทกเฉี่ยวชนมาก่อนจนสีหลุดลอก ย่อมมีโอกาสเกิดสนิมได้ทุกคัน

ดังนั้นเมื่อเกิดสนิมขึ้นก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะถึงแม้ว่าจะดูเป็นปัญหาเล็กน้อยไม่น่าก่อให้เกิดอันตราย ๆ แต่ถ้าปล่อยให้สนิมลุกลามแล้วอาจสร้างผลกระทบร้ายแรงตามมาอย่างคาดไม่ถึงได้ สำหรับคนรักรถท่านใดที่กำลังรู้สึกกังวลเรื่องรถเป็นสนิมอยู่ เมื่ออ่านบทความนี้จบรับรองว่าจะได้แนวทางการดูแลรถที่รับประกันว่าปฏิบัติตามแล้วสนิมจะไม่มากวนใจอย่างแน่นอน

รถยนต์เป็นสนิมเกิดจากอะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสนิมเกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างเหล็ก ออกซิเจน น้ำหรือความชื้นในอากาศ อธิบายง่าย ๆ คือบริเวณไหนที่มีสีเคลือบอยู่จะไม่เกิดสนิม เพราะสีช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยานี้ได้เป็นอย่างดี แต่พอสีหลุดลอกออกทำให้เหล็กด้านในไม่มีสิ่งใดปกป้องอีกต่อไป

ดังนั้นเมื่อเจอกับความชื้น อากาศ หรือน้ำฝน ฯลฯ จึงเกิดสนิมได้ ยิ่งถ้าปล่อยเอาไว้สนิมก็จะกินลึกเข้าไปในเนื้อเหล็ก อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง ส่วนสาเหตุที่ทำให้รถเกิดสนิมมีดังนี้

1.สีรถยนต์ถลอกเป็นสนิม การถลอกของสีเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกกิ่งไม้ขูดขีด ก้อนดินหรือหินกระเด็นมาชน และความเสียหายของสีที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เมื่อสีรถถลอกจะส่งผลให้เหล็กบริเวณนั้นเกิดสนิมได้ง่าย

2.รถโดนเศษหินเป็นสนิม หากหินปะทะกับสีรถแรง ๆ ก็ทำให้สีรถลอกได้เช่นเดียวกัน

3.สีรถหลุดเป็นสนิม เมื่อใช้งานไปนาน ๆ แล้วไม่ได้ไปเคลือบสีรถบ่อย ๆ สีรถยนต์อาจเสื่อมคุณภาพและลอกล่อนได้ ทำให้เป็นสนิมตามมาในภายหลัง

4.รถยนต์เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนจนสีเคลือบรถหลุดล่อน หากเกิดอุบัติเหตุย่อมมีโอกาสที่สีรถยนต์จะถลอกเป็นแผลขนาดใหญ่ โดยถ้าเกิดเป็นสนิมก็อาจเป็นได้ในบริเวณกว้างเลยทีเดียว

5.โดนลมโดนแดด สำหรับพื้นผิวด้านนอกที่มีสีเคลือบอยู่ หากสีไม่ลอกก็จะไม่เป็นสนิม แต่มีบางจุดที่ไม่มีสีเคลือบ ถึงแม้จะเหมือนอยู่ด้านในตัวรถแต่ก็อาจเกิดสนิมได้

6.การเสียดสี สามารถก่อให้เกิดสนิมได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะพบในรถยนต์รุ่นเก่า ๆ มากกว่ารุ่นใหม่

7.การเติมน้ำมัน น้ำมันเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติกัดกร่อนได้ เพราะฉะนั้นคราบน้ำมันที่เกาะตามฝาถังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดสนิมได้เช่นกัน

รถเป็นสนิมบริเวณใดได้บ้าง

  • ฝากระโปรงรถยนต์ เพราะต้องเปิดปิดบ่อยครั้ง สีที่เคลือบรถอยู่อาจหลุดลอกจนเป็นสนิมตามมาในภายหลังได้
  • ล้อรถยนต์ ส่วนล้อจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสนิมมากนัก แต่บริเวณจานเบรกที่เป็นเหล็กหนาล้วน ๆ มีโอกาสเป็นสนิมได้ง่ายมาก เนื่องจากไม่มีสีหรือสารใดเคลือบเพื่อกันสนิม แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว
  • ใต้ท้องรถยนต์ เป็นส่วนที่อยู่ต่ำ ทำให้เวลาขับขี่บนพื้นน้ำแล้วโคลนตมกระเด็นมาโดนได้ง่าย หากไม่ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอก็มีโอกาสที่จะเป็นสนิมได้
  • บานพับประตู เป็นจุดที่หลายคนคาดไม่ถึง ส่วนสาเหตุที่เกิดสนิมได้ง่ายนั้นเพราะเมื่อเปิดปิดจะโดนลมโดนแดดโดยตรง เมื่อฝนตกทำให้น้ำฝนอาจไหลซึมเข้ามาที่บานพับประตูได้อีกด้วย

รถเป็นสนิมทำอย่างไรดี

1.เริ่มจากนำผ้าไปเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่ต้องการ

2.หากสนิมขึ้นบริเวณที่ไม่มีสีรถก็สามารถใช้กระดาษทรายขัดได้ แต่ควรใช้เบอร์ละเอียดตั้งแต่ 800 ขึ้นไป เช็ดคราบสนิมออกอีกรอบด้วยน้ำมันหล่อลื่น แต่ห้ามใช้กับจานเบรกเด็ดขาด ส่วนจานเบรกที่เป็นสนิมสามารถปล่อยเอาไว้แบบนั้นได้โดยไม่ต้องไปยุ่งอะไร ห้ามนำน้ำมันหล่อลื่นใด ๆ ไปกำจัดสนิมที่จานเบรก เพราะอาจจะทำให้ลื่นจนเบรกไม่อยู่แล้วเกิดอุบัติเหตุตามมาได้

3.ทาจาระบีลงไปเพื่อช่วยป้องกันการเกิดสนิมได้ดียิ่งขึ้น

4.หากสนิมขึ้นบริเวณที่สีหลุดลอก ควรนำรถเข้าศูนย์บริการสำหรับกำจัดสนิมออกแล้วทำสีใหม่ เนื่องจากถ้าปล่อยให้สีลอกอยู่แบบนั้น สนิมก็จะกลับมาใหม่อยู่ดี

สุดท้ายนี้อย่ารอให้ รถยนต์เกิดสนิม แต่ควรต้องดูแลขัดเคลือบสีรถอย่างสม่ำเสมอ ฉีดน้ำยาป้องกันสนิมให้ทั่วทั้งคัน เวลาล้างรถแล้วต้องเช็ดให้แห้งทุกซอกทุกมุม หากเกิดการเฉี่ยวชนจนสีถลอกก็อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ควรนำไปซ่อมให้เร็วที่สุด อย่าลืมตรวจเช็คส่วนต่าง ๆ ของรถที่มีโอกาสเป็นสนิมง่าย เช่น บานพับประตู ฝากระโปรงรถยนต์ หรือใต้ท้องรถยนต์ เป็นต้น เพราะการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เจอสนิมได้เร็ว สามารถกำจัดได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองจำนวนมากนั่นเอง

——-
ติดต่อเราผ่านช่องทางด้านล่างได้เลย 😊
Line : @99Autocare
Facebook : 99Autocare
โทรติดต่อ : 080-496-4654
คลิกดูสินค้าอื่น ๆ : www.9autocare.com/shop
คลิกดูช่องทางติดต่ออื่น ๆ : www.9autocare.com/contact-us

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น